คอนโด/อาคารชุด เป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างนึงที่ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเราเนื่องจากเป็นการอยู่อาศัยที่ค่อนข้างสะดวกสะบาย และด...
คอนโด/อาคารชุด เป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างนึงที่ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเราเนื่องจากเป็นการอยู่อาศัยที่ค่อนข้างสะดวกสะบาย และดูทันสมัย ซึ่งปกติราคาขายคอนโดที่พบเห็นในปัจจุบันก็เริ่มตั้งแต่ ไม่กี่หมื่นบาท ต่อตารางเมตร จนถึงหลายๆแสนบาทต่อตารางเมตร
สิ่งที่ทำให้คอนโด มีราคาขายแตกต่างกัน โดยส่วนมากก็จะเป็นเรื่องของทำเลที่ตั้งโครงการ การคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ และการตกแต่งภายในห้อง เป็นต้น
ส่วนประกอบของอาคารชุดหรือคอนโด หลักๆ มี 2 ส่วน คือ
1. ทรัพย์ส่วนบุคคล
2. ทรัพย์ส่วนกลาง
เริ่มแรกก่อนที่เราจะไปรู้จักว่าทรัพย์ส่วนกลางคืออะไรจะขอกล่าวถึงที่คนทั่วไปเวลาซื้อคอนโด หรือ อาคารชุดมักจะได้รับจากสำนักงานขายก่อนเลยก็คือ แบบแปลน, ราคาขายและรายละเอียดของคอนโด ซึ่งถ้าเป็น คอนโดที่เสร็จแล้ว(สร้างก่อนขายหรือคอนโดมือสอง) เรามักจะได้รับเอกสารมาอีกใบ นั่นคือ “หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด” หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างนึงคือ“อช.2” ทั้งนี้มีภาษาพูดแบบไม่เป็นทางการ อีกคำหนึ่งที่เคยได้ยินคนพูดกันคือ “โฉนดห้องชุด“ ซึ่งจะเรียกว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แต่มันก็คือ อย่างเดียวกัน
หน้าตาของเอกสารก็จะประมาณนี้มีครุฑอยู่แบบนี้ แน่นอนครับว่าเป็นเอกสารที่ต้องออกจากหน่วยงานราชการ โดยที่มุมขวาของเอกสารจะมีระบุถึงตำแหน่งที่ดิน(ที่ตั้งของคอนโด) ว่าตั้งอยู่ที่ไหน และที่มุมด้านซ้ายของเอกสารจะบอกถึงห้องชุดเลขที่ ชั้นที่ อาคารเลขที่ ชื่ออาคารชุด และสุดท้ายเป็น ทะเบียนอาคารชุด
- ห้องชุดเลขที่ ก็จะเหมือนกับบ้านเลขที่ ของห้องชุดห้องนั้น
- ชั้นที่ ก็คือตำแหน่งที่ตั้งของห้องชุดในอาคาร
- อาคารเลขที่ ก็จะหมายถึงชื่อของอาคาร ในโครงการนั้นๆ (หากมีหลายอาคาร)
- ชื่ออาคารชุด อันนี้ ก็ตรงๆส่วนมากก็จะเหมือนกับชื่อโครงการ ตอนผู้ขาย แจ้งขาย
- ทะเบียนอาคารชุดหมายถึงอาคารชุดนั้น ไปจดทะเบียนอาคารชุดที่กรมที่ดิน ไว้ที่ปีไหนซึ่งการจะไปจดเลขทะเบียนอาคารชุด จะจดได้ก็ต่อเมื่อคอนโด สร้างเสร็จแล้ว
เช่นทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 3/2554
“ 3 “ ความหมายคือลำดับในการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่ๆคอนโดนั้นๆ ตั้งอยู่
“2554 “ ความหมายคือปีที่ไปทำการจดทะเบียน
ดังนั้นหากอยากทราบว่าโครงการนั้น สร้างมานานหรือยัง ก็จะสามารถทราบได้จากตรงนี้ ครับ (ปีปัจจุบันลบด้วยปีที่จดทะเบียนอาคารชุด) แต่อาจจมีข้อยกเว้นสำหรับคอนโด ที่สร้างไม่เสร็จใน 1-2 ปีนะครับ เช่นบางโครงการอาจจะมีที่สร้างทิ้งไว้หลายๆปี แล้ว มาสร้างต่อทีหลัง แต่โดยส่วนมากแล้วคอนโดที่ไม่มีปัญหาอะไร มักจะเร่งสร้างให้เสร็จใน 1-2 ปี เพราะสร้างเสร็จเร็วก็ขายได้เร็ว(รับรู้รายได้ ได้เร็ว)
* เลขทะเบียนอาคารชุดจะสามารค้นได้อีกทางนึงคือจาก "เว็บไซด์ของกรมที่ดิน" (หากทราบชื่อจดทะเบียนอาคารชุด)
ถัดลงมาก็จะเป็นชื่อบริษัทผู้พัฒนาโครงการอยากรู้ว่าบริษัทที่สร้างนั้นเป็นใคร (น่าเชื่อถือหรือ น่าหลีกเลี่ยงหรือไม่) ยิ่งหลังๆนี้ มีหลายๆบริษัทหน้าใหม่ของวงการคอนโดเข้ามาทำคอนโด เยอะ ซึ่งบางบริษัทอาจจะทำได้ดีกว่าบริษัทผู้พัฒนาเดิมหรือ อาจจะทำได้แย่กว่า ตรงนี้ก็คงต้องศึกษาข้อมูลดีๆ
ตรงกลางของเอกสารก็จะเป็นแผนผังห้องชุด ขอบเขตของห้องชุดหรือคอนโดเราเป็นอย่างไรก็ดูได้จากข้อมูลตรงนี้ ปกติแล้วแต่ละด้านจะมีขนาดความยาวของแต่ละด้านกำกับไว้ และปกติจะมีมาตราส่วนเขียนกำกับไว้ใต้แผนผังห้องชุด
ส่วนมากจะเป็น 1: 100 นั่นก็คือหากวัดในเอกสารได้ 1 เซนติเมตรจะแทนด้วยพื้นที่จริง 100 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร นั่นเอง
ส่วนท้ายสุดเลยก็จะเป็นเนื้อที่ห้องชุด ซึ่งจะมีหน่วยเป็นตารางเมตร (ต่างจากที่ดินทีมีหน่วยเป็นตารางวา) อัตราส่วนในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง และวันที่ออกเอกสารสิทธิ์
ในส่วนสุดท้ายนี้จะระบุความหมายไ ว้2 ส่วนหลักๆ คือ
1. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล คือเนื้อที่ของห้องชุด
2. กรรมสิทธิ์ทรัพย์ส่วนกลาง คืออัตราส่วนในกรรมสิทธิ์ที่จะบอกว่าในทรัพย์สินส่วนกลางทั้งหมด เราถือสัดส่วนอยู่เท่าไหร่
เบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ส่วนบุคคล ก็จะมีลักษณะแบบนี้ซึ่งในบทความต่อไปจะกล่าวถึง ทรัพย์ส่วนกลาง
โดยที่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับ
ทรัพย์ส่วนบุคคลก็จะเป็น อช. 2 หรือ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
ทรัพย์ส่วนกลาง เอกสารที่เกี่ยวข้องและเราควรต้องตรวจสอบดูอีกอย่างคืออช.10 หรือ หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด
“หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด” ซึ่งชื่อก็บอกไว้ชัดเจนอยู่แล้วครับว่าเป็นหนังสือสำคัญ แต่จากประสบการณ์ที่พบมา หลายท่านที่ซื้อ อาคารชุดหรือ คอนโด ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ซึ่งในบทความต่อไปจะมาแชร์ให้ทราบครับว่ามีความสำคัญหรือมีข้อมูลอะไรเกี่ยวข้องกับเอกสารนี้บ้าง
* ขอสงวนสิทธิ์บทความนี้ไว้นะครับ
แสดงความคิดเห็น
ไม่มีความคิดเห็น